สยามพิวรรธน์ ยูนิลีเวอร์ คาโอ เต็ดตรา แพ้คและเครือข่ายพันธมิตร ร่วมเปิด ไดร์ฟทรู รีไซเคิล คอลเลคชั่น เซ็นเตอร์ แห่งแรกในประเทศไทย
กรุงเทพฯ (4 มิถุนายน 2564) – บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท คาโออินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก สร้างต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร ด้วยการเปิดให้บริการ Recycle Collection Center หรือ จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว แบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) แห่งแรกในประเทศไทย สำหรับพื้นที่เขตเมืองชั้นใน โดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกแล้วมาฝากส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลที่จุดไดร์ฟทรู ณ สยามพารากอน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อชีวิตผู้คนเป็นวงกว้าง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมช่วยกันแก้ไขและรับผิดชอบ เริ่มต้นจากการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้น เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการขยะแบบครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และป้องกันไม่ให้มีเศษพลาสติกรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จึงได้เกิดเป็น Recycle Collection Center หรือ จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว ที่เปิดให้ลูกค้า และประชาชนคนทั่วไปสามารถนำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้วจากที่บ้าน มาฝากส่งต่อไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบ และนำมาเข้ากระบวนการอัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่า ณ จุดไดร์ฟทรู Recycle Collection Center ที่ตั้งอยู่ 2 แห่งในสยามพารากอน ได้แก่ บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North และบริเวณทางออก 4 ชั้น G (ฝั่งธนาคารกรุงเทพ)
กล่องที่นำมาติดตั้งที่ Recycle Collection Center นี้ ผลิตจากการอัพไซคลิ่ง ด้วยไม้เทียมที่มีส่วนผสมของวัสดุแปรรูปจากซอง/ถุงเติมพลาสติกแบบหลายชั้น (Multilayer Packaging) ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งออกแบบโดย บริษัท ดั๊ก ยูนิต จำกัด และผลิตโดยบริษัท เบสท์โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยขยะที่นำมาฝากทิ้งจะต้องผ่านการทำความสะอาด และแบ่งตามประเภทของวัตถุดิบ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่
1) กระดาษ 2) แก้ว 3) เหล็ก อลูมิเนียม 4) พลาสติกแข็ง เช่น ขวดนม/แชมพู/ครีมนวด/สบู่เหลว/น้ำยาซักผ้า/น้ำยาปรับผ้านุ่ม 5) พลาสติกยืด 6) พลาสติกซอง/ถุงแบบหลายชั้น (Multilayer Packaging) เช่น ถุงขนม ถุงเติมน้ำยาล้างจาน/น้ำยาซักผ้า/น้ำยาปรับผ้านุ่ม 7) ขวดพลาสติกใส PET เช่น ขวดน้ำดื่ม/เครื่องดื่ม ขวดน้ำยาล้างจานแบบใส 8) กล่องบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องนม น้ำผลไม้ หรือกะทิ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปเป็นวัตถุดิบรีไซเคิล ก่อนจะนำมาพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการนำแอปพลิเคชั่น มาใช้เพื่อเก็บข้อมูล ประเภท น้ำหนัก และประเมินความสะอาด ตั้งแต่ผู้บริโภคนำวัสดุมาส่งไว้ที่ Recycle Collection Center จนถึงปลายทางที่สยามพิวรรธน์นำเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ต่อไป โดยผู้บริโภคสามารถมารับป้ายบอกข้อมูล (Tag) ในจุดที่เตรียมไว้ให้ที่ศูนย์การค้า และนำไปติดลงบนถุงที่ใส่วัสดุก่อนจะนำมาส่งที่ Recycle Collection Center
นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างระบบจัดการขยะกำพร้า ที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกไร้ค่าให้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก โดยได้ร่วมกับ เครือข่ายลดพลาสติกไทยแลนด์ หรือ Less Plastic Thailand สร้างระบบจัดการขยะกำพร้า หรือขยะพลาสติกไร้ค่า เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารจากฟู๊ดเดลีเวอรี่ ที่ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบได้ โดยจะทำการคัดแยกและส่งต่อให้กับบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำไปกลั่นเป็นน้ำมันทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกไร้ค่าแล้ว ยังเป็นการสร้างระบบจัดการขยะเป็นศูนย์ได้อย่างแท้จริง
การจะสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้นั้น เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ตั้งแต่การรู้จักคัดแยกขยะ ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อทำให้โลกของเราดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน