สยามพิวรรธน์ จับมือ สถาบันพลาสติก จุฬาฯ PPP Plastics และ Dow แถลงความสำเร็จโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจ สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับ สถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP Plastics กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตร จัดงานแถลงผลความสำเร็จกิจกรรม Siam Pieces โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy) อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ในห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลศูนย์คัดแยกที่มีศักยภาพในการจัดเก็บขยะพลาสติกทุกประเภท รวมถึงการคัดแยกประเภทวัสดุที่รีไซเคิลได้อื่น ๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ยึดหลักแนวคิดในการประกอบธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงผู้คน สังคม และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่บรรจุไว้ในแผนการดำเนินงานหลักขององค์กรด้วยกลยุทธ์ “ร่วมกันรังสรรค์และการสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย” บริษัทฯ มีนโยบาย และการวางแผนแนวทางปฏิบัติในการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมทุกมิติ และโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สยามพิวรรธน์ยังให้ความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนควบคู่กันไปเพื่อร่วมดำเนินโครงการที่ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันในอนาคตอีกด้วย”
สยามพิวรรธน์ได้ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP Plastics และกลุ่มบริษัท
ดาว ประเทศไทย ด้วยเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยต่อยอดแนวคิดพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model)
การบริหารจัดการขยะพลาสติกในสังคมเมือง และจากผลการวิจัยที่เกิดขึ้นนี้ยังเชื่อมโยงไปสู่แผนธุรกิจที่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่อื่นสำหรับการบริหารจัดการกับขยะพลาสติกหลังการใช้ให้เหมาะสมต่อไปได้อีกในอนาคต
“วันสยามได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาพฤติกรรมการทิ้งขยะของลูกค้าและประชาชน
ซึ่งได้ดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อกลางปี 2564 เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามเพื่อนำมาวิเคราะห์มุมมองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นำมาเติมเต็มในการออกแบบ Business Model, การทดลองด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมด้วยการตั้งวางถังสำหรับแยกขยะพลาสติกตามจุดต่างๆ ภายในสยามพารากอนเพื่อศึกษารูปแบบการทิ้งขยะของลูกค้าและประชาชน, การจัดนิทรรศการให้ความรู้และกิจกรรมเสวนา ตลอดจนจัดการแข่งขันออกแบบ Business Model เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ร่วมนำเสนอความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมดจะนำไปสู่รูปแบบโมเดลทางธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับเข้าสู่ระบบการผลิตและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการต่างๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ในนามบริษัทสยามพิวรรธน์ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำให้โครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้จะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่จะเป็นต้นแบบของแผนธุรกิจในรูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในห่วงโซ่คุณค่าทั้งระบบ”
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันได้จัดกิจกรรมแถลงความสำเร็จโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ
(Business Model) ในห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช.
โดยได้เริ่มจัดตั้งโครงการในปี 2564 จนได้ผลสำเร็จในปีนี้
นอกจากนี้ สถาบันพลาสติกยังได้จัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขายขยะพลาสติกรวมไปถึงขยะรีไซเคิลประเภทต่างๆ โดยมีการทำงานที่ง่ายและสะดวก เพื่อสนับสนุนให้คนทั่วไปสามารถคัดแยกขยะและสร้างมูลค่าขยะได้ด้วยตนเอง โดยภายในแอปพลิเคชั่นผู้ใช้สามารถลงประกาศขายขยะพลาสติกหรือขยะรีไซเคิลที่ตนเองต้องการจะขายลงในแอปพลิเคชั่น และหลังจากนั้นจะมีผู้ที่ต้องการซื้อมาติดต่อและดำเนินการซื้อขายในแอปต่อไป
ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคถึงปัจจัยและแรงจูงใจที่ส่งผลต่อการคัดแยกขยะ รวมกับผลของแบบแผนธุรกิจในการจัดการขยะและแอปพลิเคชั่นที่พัฒนามาแล้วนั้น จะสามารถทำให้ขยะพลาสติกจำนวนมากถูกนำกลับเข้าระบบอีกครั้งและสร้างการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการนี้
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลต้นแบบที่มีศักยภาพในการจัดเก็บพลาสติกทุกประเภท โดยมีพื้นที่ศึกษา คือ พื้นที่วันสยาม ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิจัยตลอดทั้ง Value chain ของการจัดการพลาสติก และจัดทำข้อสรุปของผลการวิจัยออกมาในรูปแบบของ คู่มือการบริหารจัดการขยะพลาสติกสำหรับศูนย์การค้า เพื่อให้สะดวกต่อการที่ศูนย์การค้าหรือพื้นที่ที่มีรูปแบบใกล้เคียง ในการนำแนวทางที่ได้สรุปจากการวิจัยนี้ไปประยุกต์และปรับใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ ตลอดจนส่งต่อแนวคิดให้ผู้คนในสังคมร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตขยะพลาสติกในปัจจุบัน
ความเข้าใจถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นจากการจัดการพลาสติกอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน