สยามพิวรรธน์มอบต้นไม้กทม. 2 แสนต้น เกินความคาดหมายกว่าเท่าตัว! เดินหน้าองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมฟื้นฟูโลก เพิ่มยอดปลูกต้นไม้ทุกปี
- สยามพิวรรธน์ส่งมอบต้นไม้เกินความคาดหมาย 2 แสนต้น จากเดิมตั้งเป้า 1 แสนต้น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
- เดินหน้าองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม จับกลุ่มพันธมิตรมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ร่วมปลูกต้นไม้ ปลูกป่าชายเลนทั่วประเทศ เพิ่มยอดการปลูกต้นไม้ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกปี
กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เดินหน้าตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังพันธมิตร Eco System ในการเชื่อมธุรกิจไปสู่ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบเชิงบวกด้วยการฟื้นฟูและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ ภายใต้แคมเปญ Citizen of Earth by Siam Piwat ส่งมอบต้นไม้จากการทำกิจกรรม Siam Piwat Run Forest Run เปลี่ยนระยะทางจากการวิ่ง 1 กม. เป็นต้นไม้ 1 ต้นเมื่อช่วงปลายปี 2566 จำนวน 200,000 ต้นให้กับโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถคิดเทียบเท่าปริมาณการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีโดยได้รับเกียรติจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบและร่วมปลูกต้นไม้กับผู้บริหารกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และพันธมิตร ณ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “สยามพิวรรธน์ได้ร่วมขับเคลื่อนเมืองต้นแบบมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางที่ใส่ใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมใจกลางเมือง เราได้ตั้งพันธกิจในการมีส่วนร่วมกับโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น โดยกรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าหมายมอบต้นไม้ 100,000 ต้นให้กับโครงการนี้ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มก๊าซออกซิเจนให้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งกิจกรรม Siam Piwat Run Forest Run ที่จัดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจมาร่วมวิ่งสะสมระยะทางเปลี่ยนต้นไม้เป็นอย่างมากและเกินความคาดหมายที่ตั้งไว้
ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ได้บรรจุการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 โดยเราได้คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกๆ พื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า การนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการบริหารจัดการขยะด้วยแนวคิด เลือก ใช้ แยก สร้าง และมีการขยายผลจุดบริการรับขยะ Recycle Collection Center ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste
เพื่อการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้สัมฤทธิ์ผล สยามพิวรรธน์ตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยหลังจากประสบความสำเร็จในการมีส่วนร่วมกับโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น โดยกรุงเทพมหานครแล้ว จะยังคงเดินหน้าในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ด้วยการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนการปลูกต้นไม้ในแต่ละปีให้มากขึ้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และโดยรอบ รวมถึงปลูกป่าชายเลน ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าทั่วไปมากถึง 10 เท่า และต้นไม้ทุกต้นในทุกพื้นที่ที่เราปลูกจะมีการติดตามผล รวมถึงดูแลต้นไม้ทุกต้นให้เจริญเติบโตเพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยการปลูกป่านับเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง ที่ทุกภาคส่วนของโลกต่างให้ความสำคัญ และมุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นการนำไปสู่ผลลัพธ์ของการฟื้นฟูโลกให้กลับมาน่าอยู่”
สำหรับการมอบต้นไม้ภายใต้แคมเปญ Citizen of Earth by Siam Piwat ครั้งนี้ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผนึกกำลังกับกลุ่มพันธมิตร Eco System นำโดย Virgin Active กล้องถ่ายรูป Canon รองเท้ากีฬาจากแบรนด์ Puma และ Saucony จัดกิจกรรม Siam Piwat Run Forest Run เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 เชิญชวนให้คนมาร่วมวิ่งออกกำลังกายบนลู่วิ่งกลางสยามเซ็นเตอร์ และวิ่งสะสมระยะแบบ Virtual Run เปลี่ยนระยะทางทุก 1 กม. เป็นต้นไม้ 1 ต้น โดยมีผู้สนใจร่วมวิ่งสะสมระยะทางรวมกว่า 300,000 กม. ทั้งนี้กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ได้ตั้งเป้าพันธกิจช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มก๊าซออกซิเจนร่วมกับโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น โดยกรุงเทพมหานครไว้จำนวน 100,000 ต้น ทั้งนี้กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์จึงได้มอบต้นไม้จำนวน 200,000 ต้น ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่ตั้งพันธกิจไว้มากกว่าเท่าตัว! โดยสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 4,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี